ปฐมบท
การเป็นช่างซ่อมทีวีใช่ว่าใครเรียนจบอิเล็กฯมาก็ซ่อมได้เลย เพราะการซ่อมงานจริงนั้นมันมีรายละเอียดที่ซับซ้อนและอยู่นอกทฤษฎีที่เรียนมาอยู่เช่นกัน บางสิ่งบางอย่างอาจารย์ก็สอนมา บางอย่างก็ไม่ได้สอนหรือสอนมาไม่ครบ เพราะว่าอิเล็กทรอนิกส์นั้นสามารถออกแบบสิ่งๆหนึ่งออกมาได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งๆที่ผลรับก็จุดหมายเดียวกัน การที่จะนำมาสอนให้ครบก็เป็นเรื่องยาก
ตอนผู้เขียนเรียนจบไปใหม่ๆไปทำงานในศูนย์ซ่อม ต้องบอกเลยว่า ความรู้ที่สั่งสมมาไร้ความหมาย เพราะดึงออกมาใช้ไม่ได้เลย มืดแปดด้านทันที เริ่มตรงไหนยังไงไปไม่ถูก เราไม่รู้เทคนิค ไม่รู้ว่าวงจรที่เราเรียนมา อยู่ตรงไหนของแผงวงจรจริงๆ เมื่อไม่รู้ มัวแต่ไปไล่วงจรเพื่อจะรู้ว่าภาคไหนเป็นภาคไหน..จบเห่
ดังนั้นสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มได้เร็ว ต้องรู้เทคนิคและวิธีการ ความคิด ของช่างคร่าวๆก่อนว่า คิดยังไง ทำยังไง มองแบบไหนให้เข้าใจ
ก่อนจับเสือต้องมีอาวุธ
สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมที่จะเป็นช่างคร่าวๆมีดังนี้
- ความรู้เรื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การทำงาน การตรวจเช็คสภาพ ดี-เสีย ของอุปกรณ์ ความรู้หลักการทำงานพื้นฐานวงจรทีวี
- เครื่องมือช่าง พื้นๆเลยคือ
- มัลติมิเตอร์แบบอนาล็อคดีที่สุด เพราะดิจิตอลมันแสดงผลช้า
- หัวแร้ง แบบปลายแหลม พร้อม ตะกั่วและที่ดูดตะกั่ว
- คีม ไขควง อุปกรณ์ อำนวยความสะดวกทั่วไปและโต๊ะทำงานเป็นฉนวน
- หลอดไฟ 60-100 วัตต์
- อะไหล่พื้นฐานบางค่าหรือบางเบอร์เช่น ตัวเก็บประจุ ตัวต้านทาน ไดโอด ทรานซิสเตอร์
- หนังสือรวมวงจรทีวีสีเล่ม 1-3 ก็ยังดี (Service manual)
- หนังสือเทียบเบอร์ ไอซี ทรานซิสเตอร์ , ECG Book
- หัวใจ และความอดทน
ทั้งสองอย่างข้างบนมันก็คืออาวุธประจำกายของช่างนั่นเอง เครื่องมือที่ควรมีสำหรับช่างนอกจากตัวอย่างข้างบนแล้ว เมื่อเรามีความสามารถระดับที่ว่าซ่อมเป็นแล้ว คือ สโคป และเครื่องเทสฟลายแบ็คแบบตั้งโต๊ะ เครื่องวัดความถี่ ฯลฯ ตามความต้องการของผู้ซ่อม เนื่องจากมันจะสะดวกมากขึ้นและวิเคราะห์ได้เร็วขึ้น
ต้องรู้อะไรบ้างจึงซ่อมได้?
ต้องขอออกตัวก่อนว่า ความรู้ที่แนะนำนี้เป็นหลักการที่ผู้เขียนใช้อยู่ แต่ผู้เขียนนี้ไม่ได้เก่งถึงระดับอาจารย์เนื่องจากผู้เขียนประสบการณ์ไม่มากนักซึ่งผู้เขียนก็นำมันมาใช้กับตัวเองอยู่ และคิดว่า มันก็พอที่จะนำมาแนะนำได้ในระดับเริ่มต้น ที่เหนือจากนั้นท่านก็นำไปต่อยอดเอาเองจากผู้ชำนาญงานที่มากกว่าผู้เขียน ผู้อ่านโปรดพิจารณาและควรหาข้อมูลเพิ่มเติม
สิ่งที่ต้องรู้ก่อนจะเป็นช่างซ่อมทีวี
- รู้หน้าที่การทำงานของแต่ละภาคของทีวี หลักๆแยกเป็นภาคจำง่ายๆคือ ภาคจ่ายไฟ, ภาค Horizontal,ภาค Vertical,ภาคซิงโครไนเซชั่นและโครม่า, ภาคควบคุมและแสดงผล คือ MPU ต้องหัดดู ServiceManual มากๆ
- สามารถแยกแยะภาคต่างๆบนแผ่นบอร์ดหรือแผงวงจรทีวีได้ หมายถึง สังเกตุและรู้ได้ว่าภาคไหนอยู่ตรงไหน มีอะไรเป็นที่สังเกต
- รู้เทคนิควิธีการทดสอบ การวัดไฟ การดูอาการเสีย การป้องกันอันตรายจากไฟสูงและการเสียหายจากการตรวจซ่อม
- รู้ราคาคร่าวๆของอุปกรณ์ เพื่อเพิ่มความระมัดระวังในการตรวจเช็คมากขึ้น อุปกรณ์บางตัว แพง ไม่มีจำหน่าย หากเสียหายอาจทำให้เราขาดทุนจากการซ่อมส่งเดชได้
- รู้ว่าอาการนอกทฤษฎีในห้องเรียนมีอยู่จริง มันทำให้หลงทางและเสียเวลา อันได้แก่ ความเสื่อมสภาพของวงจร อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อม เช่น แผ่นวงจรชื้น, แผ่นปริ้นจุดบัดกรี แตก ผุ ร่อน, ฟ้าลง, ใช้งานผิดวิธีของผู้ใช้ , มดทำรัง, จิ้งจกเข้าไปอาศัย(เหล่านี้ไม่มีสอนในห้องเรียน)เป็นต้น
พื้นฐานที่กล่าวมา ทำให้เราสามารถวิเคราะห์และทำการซ่อมได้เร็วขึ้น เนื่องจากมันคือพื้นฐานของความชำนาญในการซ่อม ส่วนที่นอกเหนือจากนี้มันก็มีอีก แต่นั่นคือสิ่งที่ท่านต้องเรียนรู้เพิ่มเติมในงานต่อไป อาทิเช่น การเทียบเบอร์ไอซีและทรานซิสเตอร์ หากท่านซ่อมจนชำนาญแล้วท่านจะรู้ว่า ทรานซิสเตอร์เบอร์นี้ มีขาเป็นเช่นไร มีเบอร์ไหนแทนได้บ้าง มันก็จะทำให้ท่านทำการซ่อมได้รวดเร็วขึ้น เพราะหากท่านไม่รู้ตำแหน่งขาการไล่วงจรก็จะช้า และหากท่านไม่ทราบเบอร์แทนท่านก็จะล่าช้าเนื่องจากต้องหาข้อมูลเบอร์แทนหรือรออะไหล่ หากท่านรู้อยู้ในหัวก็ใช้เบอร์อื่นที่มีคุณสมบัติใช้งานเหมือนกันมาแทนได้ ช่วยให้ท่านซ่อมได้รวดเร็วขึ้นนั่นเอง
บทความต่อไปจะกล่าวถึงวิธีสังเกตุ แยกแยะภาคต่างๆบนแผงวงจร >> เตรียมตัวก่อนเป็นช่าง 2