เตรียมตัวก่อนเป็นช่าง 2

การแยกแยะและแนวทางสังเกตภาคต่างๆแบบคร่าวๆของทีวี

  ผู้อ่านอาจจะเรียนมาว่าวงจรของทีวีนั้นมีอะไรบ้าง ทำงานอย่างไร แต่ว่า พอมาซ่อมจริงมองดูบนแผงวงจรแล้วอาจจะงงว่าภาคไหนอยู่ตรงไหน  จะสังเกตอะไรได้บ้างเพื่อแยกแยะให้เร็วขึ้น มีข้อสังเกตุ2ลักษณะคือ
    - จากเลขตำแหน่งอุปกรณ์ในวงจร หมายถึง การเทียบเลขตำแหน่งอุปกรณ์ใน service manualแล้วนำไปเทียบในแผงบอร์ดว่ามันอยู่ตรงไหน (สำหรับมือใหม่และมีหนังสือคู่มือวงจร)
    - ทางกายภาพ คือสังเกตจากรูปแบบ ลักษณะการวางของอุปกรณ์บนบอร์ด(สำหรับผู้ที่ซ่อมเป็นแล้ว ชำนาญแล้ว)
 ผู้เขียนจะไม่แนะนำวิธีการเทียบจากคู่มือกับแผงบอร์ดเนื่องจาก มันก็คงไม่มีอะไรที่ยากนัก แต่จะแนะนำวิธีสังเกตทางกายภาพ เพื่อที่จะได้ช่วยให้เป็นเร็วมากขึ้น  วิธีสังเกตมีดังนี้

ภาคจ่ายไฟ
แน่นอนภาคนี้เป็นภาคแรกที่ต้องเช็คก่อนใครเมื่อมีอาการเปิดไม่ติด ภาคนี้ก็สังเกตจากปลั๊กไฟเข้านั่นแหละง่ายๆ และจะมีตัวเก็บประจุที่ใหญ่มาก เนื่องจากมันคือขุมพลังงานทั้งหมดของทีวีนั่นเอง มีหม้อแปลงสวิทชิ่งและแผ่นระบายความร้อนอยู่ใกล้กันกับตัวเก็บประจุตัวใหญ่(95%ของทีวีทุกยี่ห้อ) ที่เหลือจากนี้ อุปกรณ์ตัวไหนใช้เลขตำแหน่งอุปกรณ์เดียวกันกับ ตัวเก็บประจุตัวใหญ่นี้ ก็ภาคเดียวกัน





ภาคสแกนแนวนอนหรือภาคฮอร์(Horizontal)
ภาคนี้บริโภคพลังงานสูงอันดับต้นๆของทีวีและเป็นภาคที่ต้องเช็คต่อจากภาคจ่ายไฟเป็นอันดับสองเลยก็ว่าได้ ข้อสังเกต ก็คือ ฟลายแบ็ค(เด็กใหม่งง?ฟลายแบ็คเป็นยังไงอ่ะ) ฟลายแบ็คทำหน้าทีจ่ายไฟสูงให้หลอดภาพดังนั้นรูปร่างมันส่วนใหญ่ก็จะมีสีดำ มีสายไฟแรงสูงโยงไปที่หลอดภาพนั่นเอง ส่วนหนึ่งไปที่ด้านบนของหลอดภาพและส่วนหนึ่งไปที่คอหลอด ใกล้ฟลายแบ็คก็จะมีแผ่นระบายความร้อยขนาดใกล้เคียงกับภาคจ่ายไฟอยู่ติดกันนั่นเอง อุปกรณ์ที่ติดแผ่นระบายความร้อนก็คือทรานซิสเตอร์เอาท์พุตภาคฮอร์นั่นเอง ตัวอุปกรณ์ไหนใช้โค๊ดตัวเลขตำแหน่งอุปกรณ์เหมือนกันก็ภาคเดียวกันอีกนั่นแล




ภาคสแกนแนวตั้งหรือภาคเวอร์(Vertical)
ภาคนี้ทำงานคู่กันกับภาคฮอร์การบริโภคพลังงานน้อยลง ขนาดภาคก็ย่อมลดลงเช่นกัน ข้อสังเกตอาจจะไม่แน่นอน คือ มีแผ่นระบายความร้อนที่เล็กลงมาบางยี่ห้อก็ใช้ขนาดใกล้เคียงภาคฮอร์แต่มันดูออกตรงที่มันใช้ไอซีลักษณ์ขาเรียงกันเป็นแถวเดียว หรือถ้าเป็นทรานซิสเตอร์(ทีวีรุ่นใหม่เลิกใช้แล้ว)ตัวก็จะเล็กกว่าทรานซิสเตอร์ฮอร์  และแผ่นระบายความร้อนนี้จะอยู่ข้างๆจุดต่อสายโย๊ค(เด็กใหม่งงอีกแล้ว!โย๊คคือตัวไหนหว่า??)สายโย๊คสังเกตุง่ายมาก คือสายที่ต่อไปยังขวดลวดสแกนภาพบนคอหลอดภาพนั่นเอง มี4เส้นด้วยกันเนื่องจากมันจะมีสายจากภาคฮอร์ด้วยเช่นกัน ส่วนใหญ่จะมีสี เหลือง แดง น้ำเงิน เขียว หรือแล้วแต่ทีวีบางรุ่นจะใช้ อุปกรณ์อื่นก็ดูเลขตำแหน่งอุปกรณ์เช่นเดิมแล




ภาคซิงโครไนช์เซชั่นหรือภาคแยกและถอดสัญญาณเรียกว่า ไอซีจังเกิ้ล
ถ้าเป็นทีวีรุ่นใหม่ก็ดูง่ายมากๆ มันคือไอซีตัวใหญ่ มีขามากๆกลางแผงบอร์ดนั่นเองถ้าเป็นทีวีรุ่นเก่าที่ใช้ทรานซิสเตอร์ล้วนๆ คงศูนย์พันธุ์ไปแล้วไม่ขอกล่าว การดูการทำงานของไอซีต้องมีพื้นฐานจากห้องเรียนแน่นอน และแน่นอนเช่นกันต้องใช้คู่มือวงจรทีวีสี เข้าช่วยในการตรวจเช็คแน่นอน ถ้ารุ่นที่ซ่อมไม่มีในคู่มือวงจร ท่านต้องหันไปพึ่งหนังสือ ECG หรือ หนังสือคู่มือไอซีอะไรก็ว่าไปเพื่อดูตำแหน่งขาของไอซีว่าภาคที่เราตรวจเช็คอยู่นั้น ส่งสัญญาณออกจากขาไหน




ภาคขับสัญญาณวีดิโอหรือRGB Driver 
ภาคนี้ไม่ใหญ่โตมากแต่ไม่สังเกตก็เห็นได้ เพราะมันอยู่บนคอหลอดภาพเป็นบอร์ดเล็กๆ( CRT Board ) ทำหน้าทีขยายสัญญาณวีดิโอ  สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน ให้แรงเพื่อขับหลอดภาพ โดยต่อเข้าที่ขาแคโถดของหลอดภาพ ความจริงภาคนี้ถือว่าเป็นภาคเดียวกับไอซีจังเกิ้ล เพราะส่วนใหญ่จะใช้เลขตำแหน่งอุปกรณ์ตัวหน้าเหมือนกัน




ภาคควบคุม(MicroProcessorUnit)และแสดงผลตัวหนังสือ(OnScreenDisplay)
ตัวอักษรในหัวข้อตัวพิมพ์ใหญ่คือตัวย่อนะครับ MPU,OSDตามลำดับ ภาคนี้ทีวีรุ่นที่ออกมาช่วงปี 2550 เป็นต้นมาบางรุ่นจะเป็น OneChip หรือรวมไอซีภาคนี้เข้ากับภาคซิงโครไนช์เป็นตัวเดียวกันแผงทั้งแผงก็จะมีไอซีตัวใหญ่บนแผงตัวเดียว ถ้ารุ่นก่อนหน้านั้นจะแยกกัน สังเกตได้จากไอซีตัวนี้จะอยู่ติดกับแผงกดหรือมีไอซี8ขาอยู่ติดกัน อุปกรณ์รอบข้างก็จะเป็นอุปกรณ์แรงดันไม่สูงเพราะวงจรนี้ใช้ไฟแค่ 5Vเท่านั้นและหลายๆรุ่นจะใช้ไอซีตระกูล Mxxxxxx,MNxxxx เป็นต้น





ภาคVIF,SIFหรือเรียกรวมๆว่าภาครับสัญญาณ สังเกตุง่ายๆเลยคือจูนเนอร์(กล่องสี่เหลี่ยมมีที่เสียบสายอากาศ) และภาคนี้มีไอซีตัวขนาดกลางๆอยู่ติดกับจูนเนอร์ บางรุ่นอาจมีกระป๋องสี่เหลี่ยมอยู่ติดกับไอซีดังกล่าว(กระป๋อง VIF) ภาคนี้จะทำการแยกภาพกับเสียงออกจากกันโดยรับสัญญาณ IF(ความถี่กลาง)มาจากกล่องจูนเนอร์ ถ้าเป็นทีวีรุ่นใหม่ๆภาคนี้จะรวมอยู่กับไอซีจังเกิ้ล


ภาคขยายเสียง
ภาคนี้ก็ง่ายๆ ดูสายลำโพงหรือไม่ส่วนใหญ่จะอยู่ข้างๆภาคควบคุม แต่รุ่นบางรุ่นที่มีระบบเสียงที่หลากหลายลูกเล่น จะไม่แน่นอน แต่คงไม่ยากเกินสำหรับมือใหม่

เตรียมตัวก่อนเป็นช่าง 3-1