เตรียมตัวก่อนเป็นช่าง 3-1


การวิเคราะห์อาการเสีย

การวิเคราะห์ผิดส่วนใหญ่มาจากผู้ซ่อมคิดไปเอง หรือ รูปแบบอาการเสียแสดงไม่ตรงทฤษฎี(อาการไม่ตรงทฤษฎีคือ อาการอยู่นอกวิชาเรียน เช่น อาการเป็นๆหายๆ อันเนื่องมาจากการเสียของอุปกรณ์ที่ไม่ควรเสีย เช่น ความชื้น การผุกร่อน ปริ้นร่อน เป็นต้น) แต่เมื่อผู้ซ่อมประสบการณ์มากขึ้นจะเข้าใจและจำได้เอง
ในการซ่อมทีวี ช่างส่วนใหญ่มักจะมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไปตามบุคลิกของแต่ละบุคคลเนื่องจากประสบการณ์และนิสัย ความละเอียดของคนไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะพยายามทำสูตรสำเร็จไว้เพื่อความรวดเร็ว เป็นของตัวเอง เปรียบดังเหมือนทำ preset ให้กับตัวเองเลยก็ว่าได้ แต่กว่าจะมีสูตรสำเร็จเป็นของตัวเองได้ก็ต้องผ่านระยะเวลาการเก็บประสบการณ์ยาวนานอยู่พอควร   ผู้เขียนจะยกสูตรสำเร็จบางข้อเป็นวิธีของผู้เขียนเอง เพื่อให้ผู้ที่คิดเริ่มต้นได้เปิดประตูไปเก็บประสบการณ์กันต่อไปในการซ่อมทีวี

ผู้เขียนจะมองว่าการซ่อมเป็นการเปิดประตูห้องหรือบางครั้งเหมือนการปิดประตูห้อง ประตูแรกของทีวีก็คือแหล่งพลังงาน ประตูที่สองคือการสแกน ประตูที่สามคือการซิงโครไนช์(ภาพและเสียง) ประตูที่สี่คือการควบคุม
ทีเรียงอย่างนี้เพราะผู้เขียนเห็นว่าทุกภาคของทีวีต้องการพลังงานอันดับแรกจึงทำงานได้ และการสแกนของทีวีมักทำงานหนักกว่าภาคอื่น ดังนั้นภาคที่มีผลต่อแหล่งพลังงานมากที่สุดคือภาคสแกน ส่วนที่ต่อจากภาคสแกนก็แล้วแต่ไม่แน่นอนที่จะเสีย
ดังนั้นการวิเคราะห์อาการเสียของผู้เขียน ทุกอาการอันดับต้นๆมาจากการรับไฟเลี้ยงไม่พอหรือไม่ได้รับไฟเลี้ยง อันดับสองคือไฟเลี้ยงมีแต่อุปกรณ์ทำงานร่วมในภาคนั้นๆเสียเอง  อันดับสามมาจากพวกนอกทฤษฎี เช่น ปริ้นร่อน อุกปรณ์ผุ ความชื้น ฯลฯ   สรุปคือผู้เขียนแบ่งเป็นสามกลุ่มในการวิเคราะห์ แล้วค่อยวิเคราะห์ละเอียดลงไปเรื่อยๆ

  • กลุ่มที่1 เกี่ยวกับแหล่งจ่ายไฟหลักและโหลดช๊อต อาการเสียที่เกี่ยวข้องก็คือ เปิดไม่ติด, เปิดไฟเข้าแต่ไม่ยอมจ่ายไฟออก 
  • กลุ่มที่2 เกี่ยวกับภาคโหลด คือ สามารถจ่ายไฟหลักได้แล้วแต่ยังทำงานผิดปกติ แต่จะให้ภาคสแกนเป็นภาคสำคัญที่สุดกว่าภาคอื่นในการวิเคราะห์เพราะภาคสแกนแนวนอนมีผลต่อภาคจ่ายไฟหลักมากและก็ยังมีชุดจ่ายไฟเสริมอีกต่างหากคือชุดไฟที่ออกมาจากฟลายแบ็คนั่นเอง   อาการจะแสดงออกหลายแบบ เช่น เปิดเครื่องสักพักแล้วตัด, ไฟจ่ายแต่ไม่มีภาพ ไฟจ่ายทำงานได้ แต่มีอาการผิดปกติทางภาพ/ เสียง/ การควบคุมผิดปกติ  ฯลฯ
  • กลุ่มที่3 ไม่แน่นอน นอกทฤษฎีกลุ่มนี้หากซ่อมจริงส่วนใหญ่จะต้องดำเนินการก่อน คือ ใช้สายตาผู้ซ่อมในการสอดส่องความผิดปกติบนแผงวงจร เมื่อเห็นสิ่งผิดปกติแล้วก็วิเคราะห์อาการถัดไปได้

ตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นวิธีการแยกกลุ่มให้ง่ายในการวิเคราะห์ของผู้เขียน  ซึ่งในงานซ่อมจริงๆ ท่านจะพบว่าเมื่อซ่อมกลุ่มที่1เสร็จแล้วก็ยังมีกลุ่มที่สองอีก บางครั้งมีกลุ่มที่สามด้วย  มันต้องเปิดไปที่ละขั้นตอน ทีละประตู ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วนั่นเอง



บทความต่อไปจะกล่าวถึงวิธีการตรวจเช็คแบบคร่าวๆตามวิธีการเปิดประตูและกลุ่มข้างต้นของผู้เขียน
เตรียมตัวก่อนเป็นช่าง 3-2